6เทคนิคการจดเลคเชอร์ สำหรับนักเรียน
การจดเลคเชอร์ หรือการจดสาระสำคัญของบทเรียน หรือเนื้อหาที่ได้เรียนไปนั้น เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยในการเรียนในห้องเรียนทุกวิชา เพราะว่าคนเรานั้นไม่มีทางที่จะจำที่อาจารย์ หรือติวเตอร์สอนได้ 100% จึงต้องมีการจด เพื่อนำไปทบทวนความจำ สำหรับเทคนิคการจดเลคเชอร์ สำหรับน้องๆ นักเรียนนั้น มีหลักในการจดที่ดี ดังต่อไปนี้ครับ
- เพิ่มสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความสำคัญ ในการเน้นเนื้อความที่เราจดไป โดยเฉพาะเนื้อความที่มีความสำคัญมากที่สุด หรือต้องใช้ในการสอบ เช่น นักเรียนอาจจะทำเครื่องหมายดอกจัน (*) ใส่หน้าข้อความ หรือสูตร ที่มีความสำคัญที่นักเรียนต้องการจำให้แม่นๆ หรืออาจจะใช้การขีดเส้น ด้วยปากกาสีแดง เพื่อเพิ่มความสำคัญของข้อความเลยก็ได้
- จดเน้นประหยัดกระดาษ เช่น A4 ก็แบ่งพับเป็นครึ่งหน้า หรือแบ่งเป็นสี่ส่วน จากนั้นก็จดลงไปในส่วนที่แบ่งครึ่งเอาไว้ จะทำให้เราสามารถจดได้มากขึ้นกว่าเดิม มันจะมีประโยชน์ ในตอนที่เอามาอ่านทบทวนอีกครั้ง ซึ่งเราไม่ต้องพลิกหลายๆ หน้าให้เกิดความสับสน นอกจากนั้นยังเป็นการช่วยประหยัดกระดาษได้ ซึ่งจะง่ายต่อการอ่านอย่างมาก โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ ที่มักจะมีสูตรต่างๆ อยู่มากมาย
- ฟังและทำความเข้าใจในเนื้อหา ให้รู้เรื่องก่อนการจดลงไป เพราะการฟังและการทำความเข้าใจนั้นเป้นสิ่งสำคัญที่เหนือกว่าการจด เพราะเมื่อเราเข้าใจแล้ว การจด และการนำมาทบทวนอีกครั้งจะง่าย กว่าการตะบี้ตะบันเน้นๆ จดๆ อย่างเดียว จนลืมฟังที่ครูหรือติวเตอร์พูด สุดท้ายก็ไม่รู้เรื่องเลยแม้ว่าจะเอาที่จดไว้มาอ่านก็ไม่สามารถเข้าใจเนื้อหาได้อย่างลึกซึ้ง ดังนั้น ให้ขีดเส้นใต้คว่ามสำคัญไว้เลยว่า ให้ฟังจนเข้าใจก่อน ค่อยจดส่วนสำคัญลงไปในสมุด
- ควรแบ่ง Section ของหัวข้อให้มีความชัดเจน อย่าจดปนกัน โดยทางที่ดีให้ขีดเส้นแบ่งไปเลยว่า ตรงไหนจัดหัวข้อแบบไหน เพราะบางทีเน้นจดๆ ใส่แต่ไม่สนใจจัดระเบียบของเนื้อหา ทำให้เนื้อหาปนกัน จนเวลาหยิบมาอ่านแล้วก็จะเกิดความสับสนได้ ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่เข้าใจในเนื้อหานั้นๆ ไปเลยทีเดียว
- อย่าจดใส่ในหน้ากระดาษเยอะเกินไปจนทำให้ลายตา ควรเว้นบรรทัด หรือช่องว่างระหว่างเนื้อหาด้วย เพราะบางทีจดๆๆ ใส่ในหน้ากระดาษ จนเต็มพรืดไปหมด ทำให้อ่านยากเวลานำมาอ่านทบทวน ส่งผลทำให้อ่านเนื้อหาไม่เข้าใจ กลายเป็นจดมาแล้วสูญเปล่ากันทีเดียว
- หากไม่ต้องการจดยาวๆ อาจจะใช้ตัวย่อ ในการ ย่อความก็ได้ เช่น อยากจดคำว่า ภูกระดึง แต่ไม่อยากจะเขียนเต็ม อาจจะใช้ตัวย่อได้ว่า ภกด. เป็นต้น อย่างไรก็ตาม จะย่ออะไรก็ขอให้อ่านเข้าใจด้วยนะครับไม่ใช่ย่อไปเรื่อย แล้วเวลานำมาอ่านอ่านไม่รู้เรื่องซะอย่างนั้น